อาจารย์ ดร.มานิตย์ นุ้ยนุ่น : ศึกษาพาหะของธาลัสซีเมียและผู้ป่วยธาลัสซีเมียเน้นประชากรภาคใต้



อาจารย์ ดร.มานิตย์ นุ้ยนุ่น อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ และหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาชีวเวชศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศึกษาพาหะของธาลัสซีเมียและผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เน้นศึกษาในประชากรภาคใต้ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน เพราะข้อมูลชนิดการกลายพันธุ์ที่พบบ่อยของภาคใต้จะแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของประเทศไทย

อาจารย์ ดร.มานิตย์ นุ้ยนุ่น เป็นคนอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพัทลุง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (รุ่นที่ 3) ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง ได้รับทุนโครงการพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลนจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ศึกษาต่อระดับปริญญาโทควบเอกสาขาวิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หลังสำเร็จการศึกษาได้มาเป็นอาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2553

วิทยานิพนธ์ของ อาจารย์ ดร.มานิตย์ เรื่อง “A genome-wide association identified the common genetic variants influence disease severity in 0-thalassemia/hemoglobin E” ได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลระดับดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Human Genetics (2016 IF: 4.637) และได้รับการอ้างอิงจากวารสารที่มีชื่อเสียงหลายวารสาร เช่น Sciences (2016 IF = 37.205), Nature Genetics (2016 IF = 27.959), Blood (2015 IF = 11.841) เป็นต้น มีผลงานที่อ้างอิงจากบทความนี้จำนวน 132 บทความ (Google Scholar) และจำนวน 83 บทความ (Web of Science)

อาจารย์ ดร.มานิตย์ เล่าถึงความสนใจศึกษาเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียว่า จากการที่ตนเองศึกษาทางด้านเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัย ติดตามการรักษา และการตรวจเพื่อประเมินภาวะสุขภาพต่างๆ ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมพาหะของธาลัสซีเมียถึงพบได้บ่อยในคนไทยทุกภูมิภาค หากผู้ที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียมาแต่งงาน และมีลูกด้วยกัน โอกาสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจะเกิดขึ้นได้

จากข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่า แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียสูงถึง 12,000 ราย และจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเป็นโรคธาลัสซีเมีย กว่า 6 แสนคน ซึ่งผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ 3 โรคคือ ฮีโมโกลบินบาร์ทไฮดรอพส์ ฟิทัลสลิส ซึ่งจะเสียชีวิตทุกราย โรคโฮโมไซกัสเบต้าธาลัสซีเมีย และโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย โดยมีหลักการคือ ลดการเกิดใหม่ของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในประเทศไทย และดูแลผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้ดีที่สุด

อาจารย์ ดร.มานิตย์ ซึ่งศึกษาทางด้านเทคนิคการแพทย์และชีวเคมีโดยตรง จึงให้ความสนใจศึกษาวิจัยโรคธาลัสซีเมีย ทั้งในพาหะของธาลัสซีเมียและในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โดยเน้นการศึกษาในประชากรภาคใต้ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบนเพราะข้อมูลชนิดการกลายพันธุ์ที่พบบ่อยของภาคใต้จะแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของประเทศ พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของประชากรภาคใต้ที่สำคัญ ที่มีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ รวมถึงโรคพันธุกรรม โดยการศึกษาชนิดของการกลายพันธุ์ของธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ โดยจะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่สอดคล้องกับพันธุกรรมของประชากรภาคใต้ รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางมนุษยพันธุศาสตร์ (Human Genetics Laboratory) สำหรับตรวจวิเคราะห์การกลายพันธุ์และความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ หรือโรคพันธุกรรม เพื่อรองรับงานวิจัยและการบริการวิชาการในอนาคต

ในด้านการสอน อาจารย์ ดร.มานิตย์ เล่าว่า โดยนิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบติวให้เพื่อนๆ โดยมีหลักคิดอยู่ว่า “การที่เราจะสามารถติวผู้อื่นได้นั้น ตัวเราเองจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างดี รวมถึงได้มีการวิเคราะห์เนื้อหาที่มีอยู่จำนวนมาก และนำเนื้อหามาสรุปรวบยอดแบบง่าย สังเคราะห์เนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบที่เพื่อนสามารถเข้าใจได้เร็วและดูง่ายขึ้น ที่สำคัญการได้มาติวหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ทำให้เราได้ทบทวนบทเรียน รวมถึงการได้ตรวจสอบความถูกต้อง ความเข้าใจในเนื้อหาให้มากขึ้น” ดังนั้น การสอนจึงเป็นงานทำแล้วมีความสุข โดยเน้นการทำสิ่งยากให้เป็นสิ่งที่ง่าย และพยายามสอนให้นักศึกษายึดหลักในการเรียนคือ ต้องเรียนแบบเข้าใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือบูรณาการกับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องได้

เนื่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยชุมชน การได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ อาจารย์ ดร.มานิตย์ ถือว่า เป็นความสุขของคนทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยร่วมมือกับคณาจารย์และนักศึกษาของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ จัดทำโครงการเทคนิคการแพทย์วลัยลักษณ์เพื่อชุมชน ซึ่งโครงการนี้มีมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปีปัจจุบัน รวม 6 ปี และโครงการ 29 มิถุนายน วันเทคนิคการแพทย์ไทย ซึ่งจะมีการตรวจประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้น การจัดนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ การประชาสัมพันธ์หลักสูตร

นอกจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติในประชากรภาคใต้แล้ว อาจารย์ ดร.มานิตย์ ยังให้ความสนใจศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อระดับความรุนแรงของโรคเบต้าธาลัสซีเมีย การพัฒนาชุดการตรวจคัดกรองฮีโมโกลบินอีแบบพกพา และการพัฒนาชุดการตรวจคัดกรองฮีโมโกลบินอีด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ การตรวจการกลายพันธุ์ของธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติจากสิ่งส่งตรวจชนิด cell-free DNA

อาจารย์ ดร.มานิตย์ เล่าต่อในตอนท้ายว่า ในฐานะที่ได้สอนทั้งการบรรยายและปฏิบัติการ รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ ทำให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาเป็นตัวอย่างที่ใช้ในการสอนจริง ตลอดจนการศึกษาวิจัยในประชาชนในชุมชน การให้ความรู้และคำปรึกษาในลักษณะการบริการวิชาการ จึงเป็นการบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

อาจารย์ ดร.มานิตย์ นุ้ยนุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะศิษย์เก่าที่มีศักยภาพได้รับทุนจากรัฐบาลศึกษาต่อถึงระดับปริญญาเอก และกลับมาเป็นอาจารย์ให้ความรู้แก่รุ่นน้อง สร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนอีกด้วย

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง