ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา สมุหเสนีโต : องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานการพัฒนางานวิจัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา สมุหเสนีโต อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนใจศึกษาเกี่ยวกับการแสดงออกของโปรตีน Sphingosine kinase 1 (SphK1) และ Sphingosine 1 phosphate receptor 4 (S1PR4) ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเชื่อว่า องค์ความรู้ด้านกลไกการเจริญของเซลล์มะเร็งเป็นพื้นฐานในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง และได้รับทุนการศึกษาในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

ระหว่างที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ได้ทำโครงงานวิจัย (Research Project) เกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดจากต้นบอระเพ็ดต่อการทำงานของหัวใจในหนูแร็ท ซึ่งจากการทำโครงงานวิจัยนี้ ทำให้ค้นพบตนเองว่า มีความชอบในสาขาวิชาสรีรวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่และการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จึงได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก สาขาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้น ได้มาเป็นอาจารย์ ที่สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ให้ความสำคัญในกระบวนการเรียนการสอนแบบ active learning ในสาขาสรีรวิทยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการประเมินจากสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจและสามารถนำความรู้ทางด้านสรีรวิทยาไปเชื่อมโยงในระดับชั้นคลินิกได้

นอกจากด้านการสอนแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ยังให้ความสนใจในงานด้านการวิจัย โดยมีความเชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหารและตับ สารบ่งชี้ (tumor markers) ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ ฤทธิ์ของสมุนไพรต่อการทำงานของตับ และการย่อยแล็กโทสบกพร่อง (lactose maldigestion) ทั้งนี้ ได้ศึกษาการแสดงออกของโปรตีนบางชนิดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในลำดับ 3 ของผู้ป่วยมะเร็งในเพศชาย และเป็นอันดับ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งในเพศหญิงในประเทศไทย

มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยส่วนใหญ่พบการเจริญของมะเร็งอยู่ในระยะที่ 2 และ 3 หรือในระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้อัตราการรอดชีพ (survival rate) ลดลง การศึกษาโปรตีนและยีนเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายพยากรณ์โรค (prognostic markers) รวมทั้งศึกษากลไกการเจริญของมะเร็งในแต่ระยะจึงมีความสำคัญ โปรตีนที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา สนใจศึกษา คือ Sphingosine kinase 1 (SphK1) และ Sphingosine 1 phosphate receptor 4 (S1PR4) เนื่องจากเป็นโปรตีนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแต่ยังมีข้อมูลการศึกษาน้อยในมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผลจากการวิจัยพบว่า ชิ้นเนื้อของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวน 32 คน มีการแสดงออกของโปรตีน SphK1 และ S1PR4 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับชิ้นเนื้อปกติ โดยพบในบริเวณไซโตพลาสซึมของเซลล์มะเร็ง การค้นพบการแสดงออกของโปรตีน S1PR4 ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัยยารักษาโรคมะเร็งที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน S1PR4 ได้ โดยผลงานวิจัย Sphingosine 1-Phosphate Receptor 4 Expression in Colorectal Cancer Patients ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Walailak Journal Science & Technology ในปี 2017 รวมทั้งมีผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างๆ อีก 10 เรื่อง

ในอนาคต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา อยากเห็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนางานวิจัย โดยเชื่อว่า องค์ความรู้ด้านกลไกการเจริญของเซลล์มะเร็งจะยังคงไม่หยุดนิ่ง เพื่อพัฒนายารักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การบูรณาการความรู้ด้านวิจัย สู่การเรียนการสอน และบริการวิชาการสู่ชุมชน นับเป็นบทบาทที่ท้าทายและมีความสำคัญในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา สมุหเสนีโต

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง