อาจารย์ ดร. รุ่งรวี จิตภักดี : ได้รับรางวัลบริการวิชาการดีเด่น 3 ปีซ้อน

อาจารย์ ดร. รุ่งรวี จิตภักดี อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และรองคณบดี สำนักวิชาการจัดการ ได้รับรางวัลบริการวิชาการดีเด่น 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2559-2561 และได้รับโล่รางวัลอาจารย์ดีเด่นด้านความเป็นครู จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2559

อาจารย์ ดร. รุ่งรวี สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บริหารธุรกิจ มหาบัณฑิต สาขาวิชา International Tourism and Hospitality Management จาก Griffith University ประเทศออสเตรเลีย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา Rural and Regional Planning and Development สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

อาจารย์ ดร. รุ่งรวี ได้เล่าถึงการทำงานบริการวิชาการจนได้รับรางวัลบริการวิชาการดีเด่น 3 ปีซ้อน ว่า ได้มาจากแรงบันดาลใจ ที่ต้องการตอบสนองความต้องการชุมชนและการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งการทำงานทางด้านนี้จะไม่เน้นรูปแบบการนำเสนอหรือการอบรมเป็นหลัก แต่จะดำเนินการพัฒนาร่วมกับชุมชนและเครือข่าย โดยทุกฝ่ายจะเป็นเจ้าของชิ้นงานร่วมกัน โดยชุมชนและเครือข่ายจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ส่วนผู้ให้บริการวิชาการเป็นฝ่ายสนับสนุน และเป็นแรงเสริมในด้านวิชาการที่ขาดหายไป ซึ่งการทำงานบริการชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับรางวัลบริการวิชาการดีเด่น ตั้งแต่ปี 2559-2561 ประกอบด้วย โครงการการพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบการใช้การทำงานเป็นฐาน (Work integrated Learning) ของมหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนบน โครงการยกระดับสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนสู่อาเซียนของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ : จังหวัดสตูล พัทลุง สงขลา กระบี่ และนครศรีธรรมราช

งานด้านการวิจัย อาจารย์ ดร. รุ่งรวี ได้เริ่มทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 โดยได้รับแรงจูงใจจากการลงพื้นที่ในการจัดการเรียนการสอน เช่น รายวิชาการจัดการพฤติกรรมนักท่องเที่ยว รายวิชาการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เห็นประเด็นปัญหาในพื้นที่และต้องการแก้โจทย์ปัญหาให้กับพื้นที่ ทำให้งานวิจัยที่ทำมา สามารถบูรณาการกับการเรียนการสอนได้ตลอดเวลา ซึ่งในปีนี้ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัย 3 โครงการ คือ 1) โครงการแนวทางยกระดับพืชท้องถิ่นสู่พืชเศรษฐกิจ “ต้นจาก” จังหวัดนครศรีธรรมราช จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิจัยเชิงพื้นที่ 2) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก “ต้นจาก” สู่การสร้างอัตลักษณ์สินค้าของที่ระลึกชุมชนขนาบนาก โครงการท้าท้ายไทย กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 3) โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนอำเภอลานสกาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้โครงการ Innovation-Hub Creative Economy สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ได้มาจากเสียงสะท้อนจากชุมชน จึงเป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

ในฐานะครู อาจารย์ ดร. รุ่งรวี ได้ยึดหลักความเท่าเทียมของนักศึกษา ไม่ว่าเด็กหน้าห้อง หรือเด็กหลังห้อง ต้องได้รับการดูแลเสมอกัน ส่วนแนวทางการสอน เน้นทำให้เห็น เป็นให้ดู เนื่องจากรายวิชาที่สอนส่วนใหญ่จะเน้นการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงและแก้ปัญหาชุมชน เช่น รายวิชาการวางแผนโครงการและการจัดการการท่องเที่ยว รายวิชาการจัดการกิจกรรมการท่องเที่ยว และรายวิชาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยจะลงมือปฏิบัติเสมือนกับนักศึกษา นำผลจากการปฏิบัติ มาอภิปรายร่วมกัน และนำผลที่ได้ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ เช่น การจัดโครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช กิจกรรมท่องเที่ยวในเชิงปฏิบัติ กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ และการท่องเที่ยวแบบกึ่งผจญภัย เป็นต้น ทำให้ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นอาจารย์ดีเด่น ด้านการเป็นครู โดยได้รับโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2559

ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และการพัฒนาชุมชน อาจารย์ ดร. รุ่งรวี เล่าว่า เพียงเพราะแค่รู้ และให้แนวทางแก่ชุมชนอย่างเดียวไม่ได้ นักวิชาการต้องร่วมพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน เห็นความสำเร็จและความบกพร่องไปด้วยกัน ดังนั้น จึงมีเป้าหมายที่จะทำงานร่วมกับชุมชน ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง โดยเน้นการท่องเที่ยว และการยกระดับชีวิตชุมชนในด้านอื่นๆ ตามความต้องการของชุมชน

ในฐานะอาจารย์ นักวิจัย และนักบริการวิชาการ อาจารย์ ดร. รุ่งรวี เล่าว่า 3 ภารกิจนี้ ต้องไม่แยกกัน การที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้มีความได้เปรียบ เพราะใกล้ชิดกับชุมชน การวิจัยและบริการวิชาการเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของพื้นที่จึงมีมากมาย แต่การทำงานจะต้องบูรณาการให้เข้ากับการเรียนการสอน การวิจัยและบริการวิชาการ โดยนักศึกษาและอาจารย์ เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนและร่วมพัฒนาไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อทุกฝ่าย

ความสำเร็จและความมั่นคงในอาชีพของศิษย์ รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าของชุมชนที่ได้ไปทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ถือเป็นความภูมิใจสูงสุด ของอาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล
ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง