ม.วลัยลักษณ์ เผยผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2561 คะแนน 4.75 อยู่ในระดับดีมาก



ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผย ผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาตามระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ในรอบปีการศึกษา 2561 พบว่า ภาพรวมทั้งมหาวิทยาลัย มีผลการประเมินทั้ง 5 องค์ประกอบจำนวน 13 ตัวบ่งชี้ ค่าเฉลี่ย 4.75 อยู่ในระดับดีมาก จากการประเมินของคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า ผลการประเมินตามองค์ประกอบคุณภาพทั้ง 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การผลิตบัณฑิต 2) การวิจัย 3) การบริการวิชาการ 4) การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 5) การบริหารจัดการ พบว่า องค์ประกอบที่มีผลการประเมินในระดับดีมาก (ค่าเฉลี่ย 4.51-5.00 คะแนน) ประกอบด้วย องค์ประกอบที่ 2 การวิจัย (คะแนนเฉลี่ย 5.00) โดยในองค์ประกอบนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีจุดเด่น ในการมีทุนสนับสนุนการทำวิจัยของคณาจารย์ และมีรางวัลตอบแทนเมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติ มีหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยที่เข้มแข็ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ และ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมและมหาวิทยาลัยมีทุนสนับสนุนการพัฒนาตำราหรือหนังสือ องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ (คะแนนเฉลี่ย 5.00) ในองค์ประกอบนี้มีจุดเด่น ด้านการบริการวิชาการ ที่มีความเข้มแข็งมาก โดยดูจากจำนวนโครงการที่มีในชุมชนและอาจารย์มีส่วนร่วมในการบริการวิชาการเพิ่มขึ้น องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม (คะแนนเฉลี่ย 5.00) ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีแผน โครงการและกิจกรรมที่โดดเด่นชัดเจนในการพัฒนานักศึกษา มีการสร้างเกณฑ์มาตรฐานด้านศิลปะและวัฒนธรรม และเป็นที่ยอมรับระดับชาติ รวมทั้งความร่วมมือกับสำนักวิชาฯ และหน่วยงานภายนอก ในการพัฒนานักศึกษา และสุดท้าย องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ (คะแนนเฉลี่ย 4.86) องค์ประกอบนี้มีจุดเด่น คือ ผู้บริหารทุกระดับให้ความสนใจในการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง ส่งผลให้หลักสูตร สำนักวิชาฯ และมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ Social Media เช่น Facebook, Website เพื่อใช้ในการเผยแพร่ผลงานของมหาวิทยาลัย มีระบบฐานข้อมูลบุคคล เช่น คุณวุฒิการศึกษา ตำแหน่ง ประสบการณ์ สามารถนำมาจัดทำเป็น Big Data เพื่อนำมาใช้เป็น HR Analytic ได้ และการเป็นมหาวิทยาลัยไร้เงินสดใน 2-3 ปีข้างหน้า มีการเริ่มโครงการนำร่องใช้ e-Payment ในส่วนการเงินและบัญชี

ในส่วนขององค์ประกอบที่ได้ผลการประเมินอยู่ในระดับ ดี (ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.51 – 4.50 คะแนน) คือ องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต (คะแนนเฉลี่ย 4.43) ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้พัฒนาต่อไปในอนาคต ในด้านการจัดเตรียมความพร้อมรองรับการจัดสหกิจศึกษาให้แก่นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ และการออกแบบหลักสูตรพันธุ์ใหม่ในลักษณะ Module หรือการจัดรายวิชาเป็นกลุ่มวิชาเพื่อให้เห็นภาพของการประกอบอาชีพในอนาคตได้ชัดเจนเมื่อจบแต่ละ Module หรือหลักสูตรแล้ว ทั้งนี้จะเห็นว่าในองค์ประกอบดังกล่าวแม้จะได้ผลประเมินในระดับดีแต่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็ยังมีจุดเด่นในการผลิตบัณฑิตในหลายๆด้าน ทั้งนโยบายในการดูแลด้านคุณภาพการศึกษาที่เข้มแข็ง พัฒนาอาจารย์สู่การเป็นอาจารย์มืออาชีพตามกรอบมาตรฐานระบบสากล (UKPSF) ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจากประเทศอังกฤษ ทั้งระดับ Senior Fellow และระดับ Fellow รวม 52 คน มากที่สุดในประเทศ มีระบบสหกิจศึกษาที่เข้มแข็ง (2 ภาคการศึกษา 8 เดือน) ส่งผลให้บัณฑิตมีโอกาสได้งานทำสูง มีศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาที่สนับสนุนทรัพยากรการเรียนรู้ ห้องเรียน Smart Classroom ตลอดจนการพัฒนารายวิชาที่จัดสอนแบบ Online ผ่าน Thai MOOC เพิ่มขึ้น มีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง สนับสนุนการเรียนการสอนภาคปฏิบัติการ มีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการเป็น Smart Laboratory และมีการจัดเตรียมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน มีสถาบันภาษาเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ทั้งนักศึกษาและบุคลากร รวมทั้งอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ถือเป็น “ความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการประกันคุณภาพการศึกษา ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เพราะเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ดังนั้น การประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ความพยายามและความทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถของ บุคลากรทุกฝ่ายทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจ จากคุณภาพระดับดีในปีการศึกษา 2557 มาเป็นระดับดีมากในปีการศึกษา 2560 โดยในปีการศึกษา 2561 สามารถทำคะแนนได้สูงถึง 4.75 ทั้ง ๆ ที่ยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ ซึ่งจากสถิติการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557 อยู่ระดับดีที่(คะแนน 4.11) ปี 2558 อยู่ระดับดีที่ (คะแนน 4.42 ) ปี 2559 อยู่ระดับดีมาก ที่ (คะแนน 4.64) ปี 2560 อยู่ระดับดีมากที่ (คะแนนส 4.66) และปี 2561 อยู่ระดับดีมากที่ (คะแนน 4.75) จึงเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้จากการทุ่มเทของบุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประสบความสำเร็จ อย่างโดดเด่น แต่เราจะไม่หยุดเพียงเท่านี้เราจะยังคงมุ่งมั่นก้าวสู่ความสำเร็จขั้นต่อไปด้วยความมั่นใจขอขอบคุณในพลังแห่งความเชื่อมั่นและศรัทธาของพวกเราชาววลัยลักษณ์ทุกคน ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าว

ข่าวโดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร