นายอานนท์ อาชานกุล : นักศึกษา ทุน พสวท. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์

นายอานนท์ “น้องภู” อาชานกุล วิทยาศาสตรบัณฑิต(วิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ) เกียรตินิยมอันดับ 1 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักศึกษาทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับปริญญาตรี และได้รับทุน พสวท. ไปศึกษาต่างประเทศระดับปริญญาโท-เอก

“น้องภู” สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าศึกษาต่อที่สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปีการศึกษา 2557 สำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่จะถึงนี้ โดยได้รับทุน พสวท. ศึกษาต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ได้รับทุน พสวท. ไปศึกษาต่างประเทศระดับปริญญาโท-เอก สาขาคณิตศาสตร์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเลือกมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

“น้องภู” เล่าให้ฟังถึงการเลือกเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะศึกษาต่อทางด้านนี้ เพราะเป็นคนที่รักและชอบเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ที่สำคัญมีความสุขกับการได้คิด วิเคราะห์ และเรียนรู้จากการแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์อื่นๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคม จากการศึกษารายละเอียดของหลักสูตรต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ก็พบว่า หลักสูตรวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้หลายอย่าง เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่บูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี) คณิตศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้แบบจำลองทางด้านคณิตศาสตร์เพื่อทำนายคลื่นสึนามิ การจัดการน้ำท่วม การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และงานด้านอื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยในด้านที่ตนเองชอบได้อย่างเต็มที่

“น้องภู” ได้เล่าต่อว่า เนื่องจากทุกหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดสอนเป็นระบบไตรภาค ประกอบกับความเป็นวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ ทำให้ได้เรียนรู้ทางวิชาการที่หลากหลายและเข้มข้นกว่าหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทั่วไปของมหาวิทยาลัยอื่น สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ค่อนข้างน้อย (ประมาณ 2 ต่อ 1) ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ทั้งด้านการเรียนและการทำวิจัย อาจารย์ดูแลนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง

นอกจากการเรียนอย่างเข้มข้นในมหาวิทยาลัยแล้ว “น้องภู” ยังบอกเล่าถึงความประทับใจของหลักสูตรนี้ว่า เปิดโอกาสให้นักศึกษาไปทำวิจัยระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ เช่น ชั้นปีที่ 2 ได้ไปฝึกงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(NECTEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยระดับประเทศ ทำให้ได้ประสบการณ์การทำวิจัย และยังได้แนวทางการทำวิจัยเรื่อง “แบบจำลองด้านพลศาสตร์ของไหล” ชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสไปทำวิจัยระยะสั้นที่ The Interdisciplinary Center for Scientific Computing (IWR), Heidelberg University ประเทศเยอรมนี หัวข้อ Simulation of Air Pollution Distribution หรือ แบบจำลองการกระจายตัวของมลพิษในอากาศ ภายใต้การกำกับดูแลของ Prof. Dr. Peter Bastian ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระเบียบวิธีเชิงตัวเลขสำหรับการแก้สมการเชิงอนุพันธ์ย่อย โดยเฉพาะระบบสมการ Navier-Stokes เป็นสมการอธิบายการไหลของของไหลได้หลายรูปแบบ ซึ่งการทำวิจัยครั้งนี้ได้นำไปประยุกต์ใช้สำหรับการไหลของอากาศเพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

เมื่อถามถึงการเรียนจนได้เกียรตินิยมอันดับ 1 “น้องภู” เล่าว่า ตั้งใจเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก โดยเฉพาะการอภิปรายปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนกับอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาคนอื่นๆ ในชั้นเรียน เพื่อจะได้เกิดการคิด วิเคราะห์ และการนำไปประยุกต์ใช้ นำไปสู่การทำวิจัยในหัวข้อที่หลากหลาย นอกจากนั้นการทบทวน และศึกษาตำราเพิ่มเติมก็จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราไม่สามารถเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้เฉพาะการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องมีความรู้ที่กว้างและลึกเพียงพอเพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และพร้อมนำไปใช้ในการสอบแข่งขันในเวทีต่างๆ นอกเหนือจากการเรียนแล้ว ยังได้มีโอกาสฝึกภาวะการเป็นผู้นำ การบริหารการทำกิจกรรมต่างๆ และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นทั้งในและนอกสำนักวิชา เช่น การเป็นประธานนักศึกษาของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ การได้เข้าร่วมกลุ่มสัมพันธ์ และการทำกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ เป็นต้น

“น้องภู” ยังเล่าให้ฟังถึงความสนใจศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณว่า จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอุตสาหกรรม ส่งผลเสียโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ฯลฯ โดยให้ความสนใจการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรและสิ่งแวดล้อม ในฐานะนักคณิตศาสตร์เชิงคำนวณจึงประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ไปวางแผนการแก้ปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ความสำเร็จและความภาคภูมิใจที่สุดของ “น้องภู” คือ การได้รับคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาทุน พสวท. เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก ต่างประเทศ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ โดยมีความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในฐานะนักวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยวิทยา หรือสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งการได้รับรางวัล Best Oral Presentation สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประยุกต์ ในหัวข้อวิจัย “2D Numerical Simulation of Air Pollution Emitted from an Industrial Factory” ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งเป็นรางวัลแรกในฐานะนักศึกษาระดับปริญญาตรีของสักนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“น้องภู” ได้บอกรุ่นน้องถึงการเรียนเพื่อให้ประสบความสำเร็จว่า สิ่งแรกที่เราควรจะมีคือ Passion หรือความหลงไหล ผมเชื่อว่าถ้าเรารัก เราชอบ เราหลงใหลในสิ่งที่เราทำ เราจะทำมันได้ดี มีความสุข การมีจุดยืนที่มั่นคง เมื่อบวกกับความขยัน ความมีวินัย และความอดทนแล้ว ความสำเร็จหรือความฝันที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม พร้อมขอบคุณโครงการ พสวท. ที่ให้ทุนสนับสนุนและให้โอกาสผมได้เรียนในสิ่งที่ชอบ และได้ทำตามความฝัน ขอบคุณคณาจารย์ บุคลากร เพื่อนๆ และ พี่ๆ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ที่คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิตตลอดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“หากน้องมีความรัก มีความตั้งใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพ หลักสูตรวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยินดีต้อนรับน้องนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเสมอ” นายอานนท์ “น้องภู” อาชานกุล ได้กล่าวฝากไปถึงนักเรียนในตอนท้ายของการพูดคุยกัน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง