อ.ภก.ดร. กรวิทย์ อยู่สกุล : เชี่ยวชาญด้านเภสัชเวท (ศาสตร์ด้านสาระสำคัญของพืชสมุนไพร)

อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ อยู่สกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เชี่ยวชาญด้านเภสัชเวท(ศาสตร์ด้านสาระสำคัญของพืชสมุนไพร) คาดหวังว่า จะมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยในการรักษาและป้องกันโรค บนพื้นฐานการแพทย์เชิงประจักษ์

อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านถ้ำผึ้ง อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสุราษฏร์ธานี 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho : MEXT) เพื่อศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Kyushu ประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 2560 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าแห่งความภาคภูมิใจจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรางวัลผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมจากมหาวิทยาลัย Kyushu ประเทศญี่ปุ่น

หลังจากสำเร็จการศึกษา อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ ได้มาเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยได้เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาในชีวิต นอกจากมีพ่อแม่ที่ดีคอยสนับสนุนแล้ว ยังมีครูที่ดีคอยให้คำแนะนำและแนะแนวทางด้านการศึกษา ส่งเสริมความคิด ความฝันและอุดมการณ์ ทำให้ทุกก้าวย่างของชีวิตเพื่อไปยังจุดหมายมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ จนวันหนึ่งเมื่อประสบความสำเร็จด้านการเรียน จึงเลือกอาชีพการเป็นครู/อาจารย์ เพราะต้องการใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีเป็นสะพาน แนวทาง และสนับสนุนให้นักศึกษาได้กล้าที่จะก้าวเดินตามความฝันและอุดมการณ์ของตน เหมือนกับครั้งที่เคยเป็นนักเรียนและนักศึกษา

ขณะเดียวกัน ด้านการสอนนักศึกษา จะใช้ตัวเองเป็นพี่เลี้ยง ให้นักศึกษาได้เรียน ได้ทำ ตามความอยากรู้ อยากทำ ในรูปแบบของตน ปลูกฝังให้นักศึกษามีจิตใจสาธารณะ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการใช้ยา และสุขภาพของคนไทย

ด้านการวิจัย อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ เล่าว่า เป็นความชอบส่วนตัวในลักษณะเนื้องานและกระบวนการทำงาน แต่การเลือกหัวข้องานวิจัยนั้น นอกจากเป็นเรื่องที่สนใจและถนัดแล้ว ผลงานวิจัยที่ได้ทำ ควรจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคมในวงกว้าง หรือทำให้สังคมมีการพัฒนาขึ้น เมื่องานวิจัยนั้นเกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ถือเป็นความคุ้มค่าในการทุ่มเทแรงกาย พลังสมอง และงบประมาณในการดำเนินงานวิจัยนั้น

อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ มีความเชี่ยวชาญทางด้านเภสัชเวท (ศาสตร์ด้านสารสำคัญของพืชสมุนไพร) ของวิทย์ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพร การพัฒนาแอนติบอดี (polyclonal, monoclonal, and recombinant antibody) และการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunoassays) ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการผลิตสารออกฤทธิ์ของสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพรที่ใช้เวลาการเพาะปลูกนาน และความต้องการของตลาดสูง การพัฒนาแอนติบอดี เน้นที่การผลิตแอนติบอดีต่อสารที่ออกฤทธิ์ทางยา เพื่อใช้ในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ทางภูมิคุ้มกันวิทยา เช่น enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) และ immunochromatographic assay (ICA) strip ซึ่งวิธีเหล่านี้มีความไวและความจำเพาะในการวิเคราะห์สูง และไม่ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ดังนั้นจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม

อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ เล่าต่อว่า มีความสนใจด้านสมุนไพรเพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคบนพื้นฐานการแพทย์เชิงประจักษ์ โดยผู้บริโภคจะได้รับผลการรักษาและความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเหล่านั้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การควบคุมคุณภาพ การผลิตและการใช้สมุนไพรในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการติดตามและเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ จึงมีแนวคิดในการใช้ศาสตร์ด้านเภสัชเวทที่เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยให้กระบวนการเหล่านี้มีความเหมาะสมมากขึ้น และคาดหวังว่า สุดท้ายจะมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยในการรักษาและป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก

เมื่อพูดถึงความภาคภูมิใจเกี่ยวกับงานวิจัย อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ เล่าว่า เป็นความภูมิใจในงานวิจัยที่เคยทำระหว่างการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งเป็นการพัฒนาแอนติบอดีเพื่อตรวจวิเคราะห์สารสำคัญของกวาวเครือขาว ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปใช้จริง เพื่อตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบกวาวเครือขาวที่จะส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาว ทั้งยังได้นำความรู้ไปช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสกัดสารสำคัญของหัวกวาวเครือขาว ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวมีคุณภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลการรักษาและความปลอดภัยจากการใช้กวาวเครือขาวเพื่อบรรเทาอาการวัยทองอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2559 ได้รับรางวัล Egon-Stahl Award in Bronze 2016 จาก the Society for Medicinal Plant and Natural Product Research (GA) ที่ประเทศเดนมาร์ก เพื่อเชิดชูเกียติทางด้านการพัฒนาแอนติบอดีเพื่อใช้วิเคราะห์สารสำคัญของสมุนไพร และในปี 2561 ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 4 ของตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม 10th HOPE Meeting with Nobel Laureate ที่เมือง Yokohama ประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS)

“แรงบันดาลใจ หรือ inspiration” ถ้าสามารถสร้างให้กับใครได้แล้ว จะเป็นแรงผลักดันให้กับคนคนนั้นไปตลอดชีวิต ดังนั้นเป้าหมายการสอนของอาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ คือการสร้างแรงบันดาลใจจากภายในของนักศึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาได้ก้าวไปในแนวทางที่ต้องการและเกิดประโยชน์ต่อสังคม ส่วนเรื่องงานวิจัยยังคงเน้นที่การพัฒนาสมุนไพรให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้สมุนไพรไทยสามารถใช้รักษาโรคได้จริง และมีความปลอดภัย

อาจารย์ ภก.ดร. กรวิทย์ อยู่สกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะอาจารย์รุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทั้งด้านการสอนและการทำวิจัย

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง