ผศ.ภริตพร แก้วแกมเสือ : นำความรู้ด้านการออกแบบมาใช้ในการพัฒนา สืบทอดภูมิปัญญาและสร้างรายได้ให้ชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร แก้วแกมเสือ อาจารย์ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ประจำสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีแนวคิดในการนำความรู้ด้านการออกแบบนำมาต่อยอดเพื่อการพัฒนา การสืบทอดภูมิปัญญาและการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม และปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สถาปัตยกรรม) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์และบทเรียน e-learning เพื่อส่งเสริมการเรียนด้านพื้นฐานการออกแบบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ จำนวนมาก ความรู้ด้านการออกแบบน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ในการพัฒนาเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาและการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ ทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ว่า “เป็นหลักในถิ่น” อีกด้วย

ในฐานะอาจารย์ ใช้วิธีการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ได้ รวมทั้งพัฒนานักศึกษาให้สามารถนำความรู้และกระบวนการคิดแบบนักออกแบบ (Design Thinking) ไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมของชุมชน และต่อยอดความรู้ด้านภูมิปัญญาชุมชนสู่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ โดยนำมาบูรณาการร่วมกับการบริการวิชาการหรืองานวิจัยเชิงชุมชน เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกของชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร มีความเชื่อว่า จะทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการต่อยอดทางความคิดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการสร้างโจทย์การออกแบบที่ตอบสนองต่อแนวทางการพัฒนาและปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความรู้และทักษะการทำงานเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บัณฑิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร มีความสนใจเป็นพิเศษด้านการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งงานวิจัยด้านองค์ความรู้ในการพัฒนาวิธีการตั้งต้นของวัสดุเพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา การพัฒนาการสร้างลวดลายบนพื้นผิวผ้าเคลือบยางพารา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการคือชุดโครงการ การออกแบบเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อผลทางความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและภูมิปัญญาของชุมชนขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร เล่าว่า งานวิชาการที่สนใจและวางแผนดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง คือการจัดทำหนังสือถอดบทเรียนด้านการออกแบบที่น่าสนใจจากโครงการออกแบบของนักศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ โดยมีความมุ่งหมายในการให้ความรู้และใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ของทั้งนักศึกษาในรายวิชา กลุ่มชุมชนและผู้สนใจทั่วไป เช่น ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ระลึก (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ / อำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช / วัดพระมหาธาตุ) ผลิตภัณฑ์เซรามิกชุดข้าวยำ ผลิตภัณฑ์เปลเพื่อการพักผ่อนจากการประยุกต์การทอผ้ายกดอก เฟอร์นิเจอร์ปูนผสมไม้สำหรับที่พักไสตล์ลอฟท์ ผลิตภัณฑ์กระถางจากยางพาราชุบผ้า ผลิตภัณฑ์หมวกกันน๊อคสำหรับเด็กจากยางฟองน้ำ บรรจุภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้การปลูกผักสำหรับเด็กชั้นประถม เป็นต้น โดยหนังสือเล่มแรกคือ “การถอดบทเรียนโครงการความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อการเรียนการสอน Design Concept for Reality” ซึ่งนำเสนอตัวอย่างการนำเสนอเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น หนังตะลุง มโนราห์ ทศกัณฐ์ ในการออกแบบออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกิจต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านขายขนม ที่พักรูปแบบโฮสเทล ได้ดำเนินการจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมการเผยแพร่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร แก้วแกมเสือ ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือและสร้างความน่าสนใจด้านการเรียนการสอนและการทำงาน โดยการใช้ศาสตร์ด้านการออกแบบร่วมกับศาสตร์ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เพื่อลดอาการบาดเจ็บในการทำงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชุมชน เพื่อให้นักศึกษาและผู้ทำงานต่างสาขาวิชาฯ ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อการเรียนรู้ที่กว้างและครอบคลุมประเด็นต่างๆมากยิ่งขึ้น

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล
ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง