มวล.จับมือ สทน. และภาคีเครือข่าย จัดอบรมด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน นักวิจัยจาก 10 ประเทศเข้าร่วม

Facebook
Twitter
LinkedIn




รองศาสตราจารย์ ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) เปิดเผยว่า ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.), Research Institute on Magnetic Fusion ประเทศฝรั่งเศส, International Thermonuclear Experimental Reactor (ITER),International Atomic Energy Agency(IAEA),National Institute for Fusion Science (NIFS) ประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานเครือข่ายวิจัยภายในประเทศของ สทน. ภายใต้ความร่วมมือกับ Center for Plasma and Nuclear Fusion Technology (CPaF) จัดโครงการอบรมทางด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันแห่งอาเซียน ครั้งที่ 6 “6th ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion” ระหว่างวันที่ 27 – 31 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีนักศึกษาและนักวิจัยจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ไทย อินเดีย จีน อิหร่าน จำนวน 80 คน และวิทยากรบรรยาย จำนวน 10 คน จากประเทศไทย ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส และเชคโกสโลวะเกีย เข้าร่วม



รองศาสตราจารย์ ดร. หมุดตอเล็บ กล่าวว่า การอบรมทางด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันในครั้งนี้จะช่วยให้มีการเตรียมบุคคลากรและนักวิจัยจากประเทศไทยและอาเซียน ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันให้ประสบความสำเร็จในอนาคต รวมทั้งจะช่วยสร้างเครือข่ายการวิจัยในระดับนานาชาติเพื่อพัฒนางานวิจัยทางด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันในประเทศไทยต่อไป

“พลังงานฟิวชันเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของมวลสารเช่นเดียวกับบนดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ทั้งหลาย การวิจัยตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิจัยสามารถควบคุมพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 100 ล้านเคลวิล ภายในสนามแม่เหล็กที่สูงกว่า 10 เทสลา คาดหวังว่าในอนาคตนักวิจัยจะสามารถสร้างพลาสมาที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ที่จะสามารถผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่องจากกระบวนการฟิวชัน(Fusion) ซึ่งมีการหลอมรวมกันของมวลสารแล้วปลดปล่อยพลังงานปริมาณมหาศาลออกมา” รองศาสตราจารย์ ดร. หมุดตอเล็บ กล่าว

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร