ม.วลัยลักษณ์แถลงขับเคลื่อนความเป็นนานาชาติ ยกระดับความเป็นสากล

Facebook
Twitter
LinkedIn

ม.วลัยลักษณ์แถลงเร่งขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานานาชาติ ยกระดับความเป็นสากล พร้อมเปิดตัวคณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ  คณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานานาชาติ ยกระดับความเป็นสากล พร้อมเปิดตัวคณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ  คณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ อย่างเป็นทางการ หลังจากสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน ดำรงตำแหน่งคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี  โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีเป็นประธานในการแถลงข่าว มีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม  

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า หลังจากสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้บริหาร 3 ท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ ศาสตราจารย์ คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย  โรจนเสถียร ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี และอาจารย์ ดร.จิตติมา  ศังขมณี ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ จึงถือโอกาสจัดงานแสดงความยินดีและเปิดตัวคณบดีทั้ง 3 ท่านอย่างเป็นทางการ พร้อมแถลงข่าวพัฒนาการความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความเป็นนานานาชาติของมหาวิทยาลัย  
         
โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายความเป็นนานาชาติ โดยเรื่องสำคัญที่สุดคือการปฎิรูปการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน มีอาจารย์ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพการสอนที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ The UK Professional Standards Framework (UKPSF) จำนวน  210 คน มากที่สุดในประเทศไทย และคาดว่าภายในปี 2564 จะมีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองมากถึง 400 คน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้ปรับปรุงห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนอัจฉริยะ Smart Classroom จำนวน 71 ห้อง ห้องปฎิบัติการ ห้องทดลองเป็น Digital Lab รวมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางกายภาพด้านอื่นๆ ให้น่าอยู่สำหรับนักศึกษาอีกด้วย

ในปี 2020 ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในด้านนวัตกรรม อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศ  อันดับ 246 ของเอเชีย และอันดับที่ 472 ของโลก  ผลงานวิจัยด้าน Physical Science อยู่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย อันดับ 8 ของอาเซียน จัดโดยNature index อีกด้วย ที่สำคัญขณะนี้มหาวิทยาลัยยังมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus กว่า 810 ชิ้นงาน แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ทั้งนี้ปัจจุบันเรามีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนกับเรา และในปลายปีนี้จะรับนักศึกษาจากประเทศจีนเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น และในอนาคตมีแผนให้แต่ละหลักสูตรสามารถรับอาจารย์ชาวต่างชาติเข้ามาสอนในสัดส่วนการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ 50% เมื่อรวมกับอาจารย์ชาวต่างชาติของทั้ง 3 วิทยาลัยนานาชาติ และสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป จะทำให้มีสัดส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ชาวต่างชาติมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว  กล่าวว่า วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดรับนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรี หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ เปิดรับนักศึกษามาแล้วจำนวน 2 รุ่น โดยการเรียนของนักศึกษาทันตแพทย์ระดับปริญญาตรี จะเรียน ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะมาเรียนต่อวิชาทางทันตแพทยศาสตร์อีก 4 ปีที่วิทยาลัยฯในกรุงเทพมหานคร และนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรทันตกรรมจัดฟันและศัลยศาสตร์ช่องปาก (นานาชาติ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 มีการเรียนสอนเป็นภาษาอังกฤษและมีการให้ทุนนักศึกษาทุกคนได้มีประสบการณ์การเรียนการสอนในต่างประเทศ  ซึ่งการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯเป็นการเรียนการสอนเชิงรุก (active learning) การเรียนการสอนทางคลินิกและการรักษาทางทันตกรรมเป็นแบบ digital dentistry ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและอาจารย์ที่มีคุณวุฒิเฉพาะทาง ซึ่งในปัจจุบันวิทยาลัยฯมีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิทางทันตกรรมสาขาต่างๆ จำนวน 20 ท่าน ในจำนวนนี้มีศาสตราจารย์ขั้นสูงระดับ 11  2 ท่าน ศาสตราจารย์จำนวน 5 ท่าน และมีอาจารย์ชาวต่างชาติ 4 ท่าน  จึงทำให้มั่นใจในคุณภาพการเรียนการสอนทุกหลักสูตรของวิทยาลัยฯว่ามีคณาจารย์ที่มีคุณภาพ  เครื่องมือทันสมัย จึงมั่นใจว่าเราจะผลิตนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการทางทันตแพทยศาสตร์ที่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพและมีความทันสมัยเป็นสากลพร้อมทั้งมีทักษะในศตวรรษที่ 21  ซึ่งจะทำให้มีความพร้อมในการประกอบวิชาชีพได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ด้าน ศาสตราจารย์ คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย  โรจนเสถียร  กล่าวว่า หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์นานาชาติเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยทีมีจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ มุ่งผลิตบัณฑิตให้ทำงานได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการเรียนการสอนใช้ระบบมาตรฐาน UKPSF  ของประเทศอังกฤษ คณาจารย์มีทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญ เน้นการเรียนรู้และปฏิบัติในสถานที่จริง พร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเรียนในบรรยากาศแบบนานาชาติ ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งในและนอกห้องเรียน ปัจจุบันวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี ได้มีการจัดการเรียนการสอน มาแล้วจำนวน 3 ชั้นปี และมีแผนการรับนักศึกษาต่างชาติและคนไทยรวมกันทั้งสิ้น 40 คน ในปี 2564 นี้

“ปัจจุบันเรามีโรงพยาบาลสัตว์เล็กเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ส่วนโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่าจะเริ่มให้บริการในปี พ.ศ. 2564  ซึ่งประกอบด้วย อาคารอายุรกรรมและศัลยกรรมม้าและสัตว์เคี้ยงเอื้อง การชันสูตรโรค โรงเรือนสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดใหญ่ โรงเรือนสุกรและสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก โรงเรือนม้าและสนามหญ้าสำหรับม้า เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพปศุสัตว์ ช้างและสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยและช่วยชีวิตสัตว์น้ำทะเล ที่จะช่วยเหลือสัตว์ทะเลเกยตื้น และศูนย์วินิจฉัยโรคสัตว์ ที่ช่วยในการชันสูตรโรคสัตว์และวินิจฉัยโรคอีกด้วย”ศาสตราจารย์ คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย  กล่าว

ด้าน อาจารย์ ดร.จิตติมา  ศังขมณี กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติเริ่มเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีเมื่อปีการศึกษา 2561 ใน 3 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมนวัตกรรมดิจิทัลบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการวิเคราะห์โลจิสติกส์และการจัดการซับพลายเชน และนิติศาสตรบัณฑิต ปัจจุบันมีนักศึกษาและคณาจารย์ชาวไทยและชาวต่างชาติรวมเกือบ 20 ประเทศ มีการจัดทําความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในต่างประเทศ อาทิเช่น Coventry University, London,Middlesex University London, University of Essex ประเทศอังกฤษ College of Professional and Continuing Education (CPCE) , Hong Kong PolyU ประเทศจีน, International Institute of Applied Informatics, Japan, Macquarie Education Group, Australia ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับ BeijingNational Center for Open & Distance Education Co., Ltd และ An Shun No.3 Senior HighSchool ประเทศจีน เพื่อการรับสมัครนักศึกษาชาวจีนมาเรียนจะช่วยขับเคลื่อนความเป็นสากลให้กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“วิทยาลัยฯ ได้สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศอังกฤษ ทำให้นักศึกษามีโอกาสศึกษาต่างประเทศเพื่อรับปริญญาใบที่ 2 จากสถาบันความร่วมมือ รวมทั้งประเทศอื่นๆที่ทำให้นักศึกษามีโอกาสไปเรียนระยะสั้นในต่างประเทศ และสร้างโอกาสให้นักศึกษาไทยได้รับประสบการณ์นานาชาติ มีบรรยากาศความเป็นนานาชาติที่แท้จริง มีผู้เรียนและผู้สอนจากหลากหลายวัฒนธรรมทำให้นักศึกษาซึมซับความเป็นนานาชาติ นอกเหนือจากการเพิ่มทักษะการสื่อสารทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนวัฒนธรรมที่หลากหลายทำให้มีความพร้อมในการทำงานในองค์กรระดับนานาชาติได้ในอนาคต” อาจารย์ ดร.จิตติมา  กล่าว

สำหรับประวัติของ ศาสตราจารย์ ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว  คณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ  ถือเป็นคณบดีทางด้านทันตแพทยศาสตร์นานาชาติคนแรกของประเทศไทยที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ระดับ 11 และเป็นPrincipal Fellow of the HEA คนแรกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คนที่ 3 ของประเทศไทย เป็นกรรมการกองทุนอานันทมหิดลแผนกทันตแพทยศาสตร์ในอดีตเคยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง President of International Association for Dental Research (Southeast Asian Division) และเคยเป็นคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในด้านบริหารยังเป็นกรรมการทุนอานันทมหิดลแผนกทันตแพทยศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537- ปัจจุบัน นอกจากนี้ได้รับการเสนอเป็นกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิดชูในด้านการเรียนการสอน และปัจจุบันได้รับ

ประวัติ ศาสตราจารย์ คลินิก ดร.น.สพ.สุวิชัย  โรจนเสถียร  คณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี สำเร็จการศึกษาระดับ Ph.D. จาก Swedish University of Agricultural Science รางวัลพระราชทานผู้ทำคุณประโยชน์เลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนม และเคยดำรงตำแหน่ง นายกสัตวแพทยสภาในปีพ.ศ. 2555-2558 เป็นสัตวแพทย์ตัวอย่างสมาคมนิสิตเก่าคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ม.เกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และมีผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศกว่า 44 เรื่อง และมีประสบการณ์การสอนทางด้านสัตวศาสตร์กว่า 25 ปี

ประวัติ อาจารย์ ดร.จิตติมา  ศังขมณี  คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ  Ph.D.(Computer Science) University College London, University of London, United Kingdom M.S.(Applied Statistics) National Institute of Development Administration,Thailand B.Sc.(Mathematics) Prince of Songkla University, Thailand

  

  

   
 

ประมวลภาพ

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดยนายบรรพต ใบมิเด็น ส่วนสื่อสารองค์กร