กิจกรรม Soft Power จากแนวคิดแบบตะวันตกสู่การปฏิบัติจริงของไทย
ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม Walailak Knowledge Sharing Soft Power จากแนวคิดแบบตะวันตกสู่การปฏิบัติจริงของไทย เพื่อปรับความรู้และความเข้าใจแนวคิด Soft Power ให้ถูกต้องและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แลการปฏิบัติงานจริงในองค์กร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ ผู้ช่วยอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวเปิดกิจกรรม อาจารย์ ดร.วศิน ประดิษฐศิลป์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ และคุณบุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการ 189 Communications Intelligence ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “Soft Power – จากแนวคิดแบบตะวันตกสู่การปฏิบัติจริงของไทย” โดยมี นักวิชาการ อาจารย์ บุคลากรและผู้สนใจจากหน่วยงานภายในและภายนอกเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting และรับชมการถ่ายทอดสดทางเพจ Facebook : Walailak Channel เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของส่วนสื่อสารองค์กร และสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ภายใต้โครงการ Walailak Knowledge Sharing ซึ่งเป็นโครงการในส่วนของแผนงานการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง Soft Power ที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในปัจุบันและเพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์อันดีและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การจัดกิจกรรม Walailak Knowledge Sharing ในครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและประชาชนผู้สนใจจากภายนอก ถือเป็นอีกภารกิจที่ส่วนสื่อสารองค์กรให้ความสำคัญ ในการเปิดพื้นที่สื่อเพื่อการสื่อสารข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ แก่สาธารณะและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแสดงความคิดเห็นร่วมกันได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา กล่าวต่อไปอีกว่า หัวข้อ“Soft Power – จากแนวคิดแบบตะวันตกสู่การปฏิบัติจริงของไทย” เป็นการพูดถึง “อำนาจ” ที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง การควบคุม บังคับ หรือบอกว่าจะต้องทำอะไร อย่างนั้น อย่างนี้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติอาจจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ได้ แต่จำเป็นที่จะต้องทำ ทำให้เกิดคำถามว่าอำนาจมีด้านเดียวหรือไม่ ทำให้มีผู้ศึกษาเรื่องอำนาจในเชิงการสร้างสรรค์ อาจไม่ใช่การถูกบังคับ หรือสั่งให้ทำ “อำนาจ” ในเชิงสร้างสรรค์ เป็นความสำคัญในมิติของกลุ่มที่เป็นผู้บริโภค ผู้รับสาร หรือผู้ที่มีส่วนในการผลักดันในการทำกิจกรรมบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ ภาษาไทย เรียกว่า “อำนาจละมุน” ซึ่งเป็นการนำความรัก ความเข้าใจเข้ามาใส่ในอำนาจ จากแนวคิดแบบตะวันตกสู่การปฏิบัติจริงของไทย เป็นกรณีหรือวิธีการศึกษาในเชิงโครงสร้างหรือเชิงนโยบายในระดับประเทศซึ่งนับเป็นโชคดีและเป็นเกียรติที่วิทยากรผู้มากความสามารถ ทั้งอาจารย์ ดร.วศิน ประดิษฐศิลป์, PhD (International Communication and Soft Power) อาจารย์ประจำหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เจ้าของดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ Crafting Soft Power in Thailand และคุณบุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล, กรรมการผู้จัดการ 189 Communications Intelligence ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกิจกรรมการทูตวัฒนธรรมของไทยในต่างประเทศให้เกียรติถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้ในกิจกรรมครั้งนี้ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้ลงทะเบียนกว่า 60 คน จากหลายจังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ อุบลราชธานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยเข้าร่วมผ่าน Zoom Meeting และทาง Facebook Live Walailak Channel