ม.วลัยลักษณ์ ร่วม ททท.นครศรีฯ พัฒนาแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ”ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองคอนตามวิถี New Normal

Facebook
Twitter
LinkedIn

นักวิจัยม.วลัยลักษณ์ สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์SEIR พยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19  นักวิจัยม.วลัยลักษณ์ สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์SEIR พยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19

สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช (ททท.) ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของ จ.นครศรีธรรมราช ให้นักท่องเที่ยวรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและกลับมาเที่ยวซ้ำ

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและร่วมพูดคุยในกิจกรรม “ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย Digital Marketing ในวิถี New Normal” ร่วมกับ คุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครศรีฯ รองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มวล. คณาจารย์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ผู้ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน พร้อมด้วยผู้ประกอบการอีกกว่า 40 ราย โดยการเข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom เพื่อแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน“มานะมานครฯ” ซึ่งพัฒนาโดยสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มวล.เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.นครศรีฯ ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารวิชาการ 6 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

           ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี กล่าวว่า มวล.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและทีมงานผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง มวล. มี สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ โดยทีมคณาจารย์ นักวิจัยที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆให้ก้าวหน้าไปมาก และได้สร้างความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและสถานประกอบการร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการได้ติดต่อสื่อสารและใช้เป็นช่องทางโปรโมทธุรกิจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้นักท่องเที่ยวได้รู้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดนครศรีฯและมวล. ซึ่งมีสถานที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้เช่นกัน ทั้ง สวนวลัยลักษณ์ สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หรืออุทยานพฤกษศาสตร์ ที่ให้บริการลานกางเต็นท์ ใกล้ชิดธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่นริมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สามารถ และในอนาคตจะมีโดมกระบองเพชร สวนสัตว์ Tower และสะพานสำหรับชมวิวยอดไม้ รวมทั้งโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพสธ.) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของจ.นครศรีฯ ที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ”ที่สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มวล.ร่วมกันพัฒนาขึ้นจะสามารถช่วยให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว จ.นครศรีฯได้อย่างมีความสุขและสะดวกมากยิ่งขึ้น

          รองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ” เริ่มจากงานวิจัยที่พบว่านักท่องเที่ยวมักจะถ่ายรูปเซลฟีตัวเองกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ทางผู้พัฒนาจึงมองว่าสามารถใช้รูปถ่ายเหล่านั้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวได้ โดยการสร้างความโดดเด่นให้รูปนั้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อใช้แอปพลิเคชันนี้ เซลฟีที่สวนวลัยลักษณ์ ในแอปฯนอกจากจะมีวิวธรรมชาติของสวนวลัยลักษณ์แล้ว จะปรากฏตัว “มาสคอตน้องมานะ” ขึ้นข้างๆรูป ทั้งที่เป็นภาพเคลื่อนไหวหรือในรูปแบบวีดีโอ และนอกจากการถ่ายรูปเซลฟีกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆแล้ว แอปพลิเคชันนี้จะเก็บข้อมูลไว้ว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่แล้วกี่ครั้ง เพื่อสะสมเป็นคะแนนให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นส่วนลดกับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้ต่อไป ขณะเดียวกันสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มรายละเอียดต่างๆของธุรกิจตนเองเข้าไปในแอปพลิเคชันให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้นเช่นกัน “มานะมานครฯ” จึงเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเข้าด้วยกันให้มีความสะดวกทั้งสองฝ่ายได้อย่างลงตัว

          ด้านคุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครศรีฯ กล่าวว่า แนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ” คือ การทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว จ.นครศรีฯ ซ้ำและรู้จักแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และใช้จ่ายในจ.นครศรีฯเพิ่มขึ้น โดยมีที่มาของโครงการ คือ ททท. สำนักงานนครศรีฯ ร่วมกับสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มวล. พัฒนาแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ”ขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว จำนวนการเดินทางและขยายวันพักแรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มวัยทำงาน Gen Y, X และกลุ่มครอบครัว ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม ตามสโลแกน เที่ยวสนุก สุข สะสม ได้แต้ม ได้ลด               ได้ของพรีเมี่ยม ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของ จ.นครศรีฯ ภายใต้แนวคิด “นครแห่งอารยะ 4 อา 5 รักษ์” คือ 1) อากาศดี ชีวียั่งยืน สูดอากาศดีๆ ที่ อ.ลานสกา ชมทะเลหมอกบนยอดเขาสูง อ.นบพิตำ อ.ช้างกลางและ   อ.ร่อนพิบูลย 2) อาภรณ์ สืบสายลายผืนผ้า คงคุณค่าผ้าเมืองนครฯ 3) อาหารถิ่นตามวิถี กินของดีตามฤดู เพื่อลิ้มรสความอร่อยอย่างแท้จริง และ 4) อาราม ศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชน นครแห่งธรรมะ กราบไหว้องค์พระบรมธาตุฯ และ 5 รักษ์ คือ 1)  รักธรรมะ เมืองธรรมะลือนาม สมญานามนครศรีธรรมราช 2) รักษ์ธรรมชาติ ท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า รักษาธรรมชาติให้อยู่นาน 3) รักษ์ศิลปะหัตถกรรม งานฝีมือล้ำค่า รักษาภูมิปัญญาบรรพชน 4) รักวัฒนธรรมเชิดชูประเพณี วัฒนธรรมอันล้ำค่า มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ และ5) รักความเป็นธรรมดา วิถีชุมชนที่ธรรมดาแต่ซ่อนความสวยงามน่าค้นหามากมาย รวมทั้งสิ้น 31 จุดเช็คอินของ จ.นครศรีฯ

          นอกจากนี้กิจกรรม “ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย Digital Marketing ในวิถี New Normal” ในครั้งนี้นอกจากการแนะนำแอปพลิเคชัน “มานะมานครฯ”แล้ว ยังมีแอปพลิเคชันและเว็บซ์อื่นๆที่พัฒนาโดยอาจารย์สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มวล. อาทิ แอปพลิเคชัน “หรอยจัง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สลิล บุญพราหมณ์และอาจารย์ธีรัช สายชู เว็บไซต์ “อิ่มใจอร่อยดี” โดย อาจารย์เจริญพร บัวแย้ม และอาจารย์ ดร.ชนันท์กรณ์ จันแดง และเว็บไซต์โมเดลวัตถุโบราณ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ ใจรังษี และ อาจารย์ ดร.ศศิธร รัตนรุ่งโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชัน

  

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดย น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร