คอลัมน์ทีนส์ทอล์กอาเซียน : ตะลุย ‘ญี่ปุ่น’ อบรมระยะสั้น ที่ ม.ฮอกไกโด

Facebook
Twitter
LinkedIn

สวัสดีค่ะ ชื่อ ดลรวี แวเย็ง หรือ นิว สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อม และปริญญาโทสาธารณสุขมหาบัณฑิต สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) จากนั้นเรียนต่อหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพ ภายใต้บ้านสาธารณสุขศาสตร์หลังเดิม วันนี้จะมาบอกเล่าประสบการณ์ในการเข้าอบรมคอร์สระยะสั้นเรื่อง “Environmental Chemicals and Human Health” จัดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ณ Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น


คือนิวเรียนที่นี่ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี มาโท แล้วตอนนี้ก็กำลังเรียนเอก มันเหมือนบ้านอีกหลังของเราไปแล้ว หลักสูตรและสำนักวิชาฯ สอนและดูแลเราอย่างดี ได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งและเชี่ยวชาญ เครื่องมือทันสมัย มีการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ มีการลงพื้นที่จริง ก่อนจบต้องทำวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
สำหรับประสบการณ์ในการเข้าคอร์สอบรมระยะสั้นที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ในชีวิต ทำให้ก้าวผ่าน Comfort zone โดยมีอาจารย์แพทริค (อาจารย์ ดร.ประเสริฐ มากแก้ว) มาถามว่าจะมีคอร์สชื่อ Environmental Chemicals and Human Health” สนใจไหม คือ say yes แบบไม่ลังเลเลย เพราะคิดไว้อยู่แล้วว่ามันต้องดีมากๆ ต้องมีประโยชน์กับเราและงานวิจัยระดับปริญญาเอกของเรา เพราะเราเองก็กำลังสนใจจะทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสสารเคมีอยู่แล้ว แต่ก็แอบหวั่นๆ และกังวลเล็ก ๆ เพราะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการอบรม และต้องทำงานร่วมกับเพื่อนต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและเกาหลี

ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น คณะอาจารย์ผู้จัดงานได้แบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มๆ ให้รู้จักและทำงานกันก่อนที่จะไปเจอกันที่ญี่ปุ่น นิวได้รับมอบหมายให้เป็นรองหัวหน้ากลุ่ม ในกลุ่มประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ทั้งจากไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยมีทั้งนักศึกษาจาก Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น Seoul National University ประเทศเกาหลี และมหาวิทยาลัยมหิดล จากประเทศไทย ซึ่งก่อนเดินทางก็มีความกังวลค่อนข้างมาก แต่พอไปถึงพบว่าสมาชิกในกลุ่มน่ารักมากๆ ช่วยเหลือกัน จนทำให้กลุ่มนิวได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการนำเสนอรายงานหัวข้อ Flooding and Health Effects

บรรยากาศการทำงานสนุกมาก เนื้อหาก็น่าสนใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสัมผัสสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันและผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ บางเนื้อหาที่ไม่เข้าใจก็พยายามถามเพื่อนๆ หรือกลับไปอ่านเพิ่มเติม แต่การมีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพก็ช่วยได้ค่อนข้างเยอะ เพราะเราเรียนอนามัยสิ่งแวดล้อมมา มันมีทั้งระบาดวิทยาและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม

หากมีโอกาสอยากชวนเพื่อนๆ ลงคอร์สนี้ในปีหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นที่ Seoul National University ประเทศเกาหลี เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน และฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่ในสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มวล. และน้องๆ ชั้น ม.6 ที่กำลังตัดสินใจเลือกสาขา/คณะในระดับปริญญาตรี หากสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มวล.ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ

เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ที่มีการเรียนการสอนด้านสาธารณสุข สอนโดยอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยก็น่าอยู่มากๆ ด้วยค่ะ