นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล : การเรียนรู้ควบคู่กับการท่องเที่ยวและรักษาธรรมชาติให้คงอยู่

Facebook
Twitter
LinkedIn


นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นอาชีพที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน ด้วยความคิดที่ว่า ได้มีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ชื่นชมกับธรรมชาติใต้น้ำที่แสนงดงาม แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ จึงทำให้เกิด “นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล” “ขนิษฐา อุทัยพันธ์” ที่ต้องการรักษาและรู้จักใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ทำลายสภาวะแวดล้อม และ “นเรนทร์ฤทธิ์ ชิ้นฟัก” ที่บอกว่า “การท่องเที่ยว”คือหนึ่งใน “การเรียนรู้” ที่ดีที่สุดของมนุษย์ ถ้าอยากเรียนรู้ควบคู่กับการท่องเที่ยว ให้มาเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



นางสาวขนิษฐา อุทัยพันธ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเล) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) นักศึกษารางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2554 วันที่ 12 กันยายน 2555 จากนั้นศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาสมุทรศาสตร์เคมี (Marine Chemistry)มหาวิทยาลัยเซี๊ยะเหมิน (Xiamen University) สาธารณรัฐประชาชนจีน

นางสาวขนิษฐา เล่าให้ฟังเกี่ยวกับความฝันของเธอว่า มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่ทางเลือกที่นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตของใครหลายๆ คน แต่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นบันไดสำคัญไปสู่ฝันของเด็กคนหนึ่งที่ชื่อ “ขนิษฐา” ที่อยากเป็น “นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล” นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับคนทั้งโลก คือการรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ และรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์อันสูงสุด โดยไม่ทำลายสภาวะแวดล้อม

แต่การเดินก้าวข้ามบันไดขั้นนี้ของเธอไม่ได้ง่ายนัก นางสาวขนิษฐา เล่าว่า ช่วงเวลาที่กำลังศึกษาอยู่นั้นจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะวิชาชีพ แม้ว่าคณาจารย์ทุกๆ ท่านได้มอบความรู้ให้ ที่ไม่ใช่เพียงแต่เนื้อหาในตำรา เนื่องจากการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนทักษะปฏิบัติการ การใช้เครื่องมือทางด้านทะเล และเทคโนโลยีอวกาศที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย รวมถึงการออกภาคสนามเพื่อไปเรียนรู้และสัมผัสของจริง ปัญหาจริงที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เรียนรู้ปัจจุบัน ผ่านบทเรียนในอดีต ที่จะนำไปสู่ทางออกสำหรับอนาคต

ไม่เพียงเท่านี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงเป็นสถานที่บ่มเพาะทักษะชีวิต ความพากเพียร อุตส่าห์ การรู้จักจัดการปัญหาเฉพาะหน้า การร่วมทำงานกับผู้อื่น และอื่นๆ อีกมาก ผ่านการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การร่วมกิจกรรมของชมรมพิทักษ์ทะเล สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานและแรงผลักดันสำคัญในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ปัจจุบัน นางสาวขนิษฐา กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาสมุทรศาสตร์เคมี (Marine Chemistry) มหาวิทยาลัยเซี๊ยะเหมิน (Xiamen University) สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในตอนท้าย นางสาวขนิษฐา ยังได้ฝากถึงน้องๆ นักเรียนว่า การค้นหาตัวเองและพากเพียรพยายามเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในอนาคตนั้น บางครั้งเส้นทางอาจไม่ชัดเจน แต่ก็อยากให้พยายาม และค่อยๆ ฝึกฝนในทุกๆ วัน เพื่อความสำเร็จในระยะยาว



นายนเรนทร์ฤทธิ์ ชิ้นฟัก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเล) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกที่หนึ่งที่ช่วยสานฝันในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ปัจจุบันได้รับทุนการศึกษาจาก Chinese Scholarship Council (CSC) ศึกษาระดับปริญญาเอกชั้นปีที่ 2 สาขา Marine Chemistry, State key of Laboratory of Estuarine and Coastal Research มหาวิทยาลัย East China Normal University ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายนเรนทร์ฤทธิ์ ได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลว่า ได้มีโอกาสเรียนในห้องเรียนที่ใหญ่มาก มีขนาดถึง 3 ใน 4 ของโลกเลยทีเดียว การเรียนเริ่มตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้เรียนวิชาบังคับของสาขาวิชา ประกอบกับทางสาขาวิชาได้จัดกิจกรรมมากมายนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ทำให้พวกเราเข้าถึงทะเลได้ง่ายยิ่งขึ้น เกือบทุกวิชาที่เรียน อาจารย์จะพาพวกเราออกภาคสนาม ไปสำรวจบริเวณพื้นที่ชายฝั่งและทะเลกันจริง ๆ ซี่งสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ได้เที่ยวมากกว่าเพื่อนที่เรียนการท่องเที่ยวอีก

นอกจากนี้ นายนเรนทร์ฤทธิ์ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมค่ายภาคฤดูร้อน Marine Ecology Summer Course (รุ่นที่ 17) ที่จังหวัดภูเก็ต ในระหว่างปิดภาคการศึกษา ซึ่งเป็นค่ายที่จัดเป็นประจำทุกปี ค่ายนี้ถือเป็นค่ายที่มีความสำคัญในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของนายนเรนทร์ฤทธิ์ เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความรู้สึกอยากรู้จักทะเลมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่มาเข้าค่ายแล้วกลับบ้าน แต่ได้มารู้จักพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันและมีจิตใจรัก(ษ์)ทะเลเหมือนกัน

“การท่องเที่ยว” คือหนึ่งใน “การเรียนรู้” ที่ดีที่สุดของมนุษย์ ถ้าอยากเรียนรู้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว มาเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายนเรนทร์ฤทธิ์ บอกในตอนท้าย

จากความฝันที่อยากท่องโลกกว้างทางทะเลพร้อมการอนุรักษ์ท้องทะลของ 2 นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มีจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คงเป็นบทสรุปที่สมบูรณ์ที่ว่า ถ้าจะเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเล ต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ข้อมูล