สหกิจศึกษาในต่างแดน : เปิดโลกทัศน์ สร้างประสบการณ์ให้นักศึกษา

Facebook
Twitter
LinkedIn


สหกิจศึกษาเป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาสลับกับการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงานเข้าด้วยกัน (ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน : 2558)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายตั้งแต่เริ่มต้นจัดการเรียนการสอนที่นักศึกษาต้องไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในสถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ได้ไปเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ของการทำงานที่มีวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่และภาษาที่แตกต่าง ดังนั้น การปรับตัวและการเรียนรู้เรื่องต่างๆ จึงมีความสำคัญและเป็นการเริ่มต้นประสบการณ์การทำงานที่ท้าทาย โดยมีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของนักศึกษาจำนวน 3 คน จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์มาให้อ่านกัน



นางสาวพีรนุช พวงศรีพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ นักศึกษาทุน พสวท. ได้ไปสหกิจศึกษา ภาควิชา Inorganic Chemistry, University of Southampton สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของสหราชอาณาจักร โดยได้ไปต่อยอด Senior Project ในหัวเรื่อง Self-assembled iron(III) spin crossover materials and films กับ Dr. Jonathan Kitchen

นางสาวพีรนุช ได้เล่าให้ฟังว่า การไปสหกิจศึกษาในต่างประเทศ ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งในส่วนของการทำวิจัยและการใช้ชีวิต เนื่องจากต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงได้พยายามเรียนรู้ด้วยวิธีการจดและทบทวน รวมทั้งบันทึกเสียงสิ่งที่ Professor และพี่ๆ นักศึกษาปริญญาเอกที่ห้องแล็บบอก ได้เรียนรู้การใช้ Langmuir Blogett ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการทำวิจัยครั้งนี้ และเครื่องมือใหม่ๆ เช่น NMR, X-ray, Mass Spectroscopy ได้เห็นการทำงานและการทำแล็บของนักศึกษาที่อังกฤษว่า เขาเรียนรู้และศึกษากันอย่างไร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ อยู่ที่ว่าจะเก็บเกี่ยวได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือความรู้ที่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัยสำคัญมาก เพราะเราจำเป็นต้องใช้ความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ในการคิด วิเคราะห์ แปลผลแล็บที่เราได้รับมา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอีกมาก เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ศึกษา ถือเป็นโอกาสและประสบการณ์ที่ดีมากๆ

นางสาวพีรนุช เล่าต่อถึงประสบการณ์การไปนำเสนองานวิจัยว่า ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ในหัวข้อ “Self-assembled Fe(III) Spin Crossover Materials and Films” ในงานประชุม “RSC Macrocyclic and Supramolecular Chemistry Group. Annual meeting” ที่ University of Southampton ซึ่งแตกต่างจากที่เคยนำเสนอในประเทศไทย ต้องใช้ทักษะการสื่อสารและการฟังภาษาอังกฤษสำเนียงต่างๆ เพื่อให้เข้าใจงานที่นำเสนอ จากที่สังเกตชาวต่างชาติจะมีทัศนคติที่เปิดกว้างกว่า จะให้คำแนะนำและคำติชมที่แตกต่างไปจากการนำเสนองานในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานที่มากขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้และ/หรือพัฒนางานของเราจากคำแนะนำที่ได้รับจากกลุ่มคนที่หลากหลาย

ส่วนการใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ นางสาวพีรนุช เล่าว่า การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสำเนียงที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมากโดยอาศัยการพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่พักอาศัยอยู่ด้วยกัน และพี่ๆ ที่ห้องแล็บ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการพูดและการฟัง ทำให้สามารถเข้าใจและสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น เรื่องอาหาร ส่วนใหญ่คนอังกฤษจะทานอาหารง่ายๆ เช่น มื้อเช้าจะทานกาแฟกับขนมปัง ตอนเที่ยงเป็นพวกแซนวิช ส่วนตัวเองจะทำอาหารทานเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ถือเป็นครั้งแรกที่ต้องทำอาหารเอง แตกต่างจากที่ใช้ชีวิตในเมืองไทย

ด้วยการแนะนำของ รองศาสตราจารย์ ดร. เดวิด ฮาร์ดิง ให้ไปสหกิจศึกษาช่วงปลายปี ทำให้ นางสาวพีรนุช มีโอกาสไปพักอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ (ท่านให้เรียกคุณปู่คุณย่า) ของอาจารย์เดวิดที่เมืองยอร์กช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่นั่น ซึ่งเมืองยอร์กถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าอยู่ ผู้คนน่ารักและเป็นมิตร โดยเฉพาะคุณปู่คุณย่า ท่านได้พาไปโบสถ์ในวันคริสต์มาสเพื่อเรียนรู้พิธีกรรมทางศาสนาของคนอังกฤษ ช่วงกลางคืนมีปาร์ตี้และกิจกรรมครอบครัว เช่น รับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน การเล่นการ์ด ดูหนัง ฟังเพลง และอีกมากมาย ทำให้ได้เห็นและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนอังกฤษอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังได้ไปเที่ยวชมสถานที่อื่นๆ อีก เช่น bath เมืองมรดกโลก, Leed, Salisbury เยี่ยมชม Stonehenge ชมพิพิธภัณฑ์ เดินชมตลาด ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

นางสาวพีรนุช พวงศรีพงศ์ ได้ขอบคุณทุน พสวท. รองศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เจมส์ ฮาร์ดิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ฮาร์ดิง และคณาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ได้ให้โอกาสไปสหกิจศึกษาที่ประเทศอังกฤษในครั้งนี้ พร้อมบอกถึงปรัชญาที่ยึดถือมาตลอดในการใช้ชีวิต เพื่อให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานว่า The most successful people in the world have made many mistakes and experienced far more failure than the rest “คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก คือ คนที่พบเจอความผิดพลาดและความล้มเหลวมามากกว่าคนอื่น”



นางสาวปิยะนุช ตั้งมนัสสุขุม ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ สาขาคณิตศาสตร์เชิงคำนวณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ไปสหกิจศึกษา ที่ศูนย์วิจัย IWR มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ส่งเสริมการวิจัยและการทำงานเกี่ยวกับการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ (Scientific computing) โดยได้รับการยอมรับว่า เป็นศูนย์วิจัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกสำหรับการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ โดยได้ไปต่อยอด Senior Project ในหัวข้อ การจำลองการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ซึ่งได้รับคำปรึกษาและแนะนำเป็นอย่างดีจาก Prof. Perter Bastian และบุคลากรในกลุ่มวิจัย

นางสาวปิยะนุช ได้เล่าให้ฟังถึงการไปสหกิจศึกษาในครั้งนี้ว่า เนื่องจากเป็นนักศึกษาทุน พสวท. ซึ่งมีทุนสนับสนุนให้นักศึกษาในชั้นปีที่ 3-4 ได้ทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีภาคการศึกษาที่ให้นักศึกษาได้ทำสหกิจศึกษาพอดี จึงได้ใช้โอกาสนี้ไปสหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยได้รับคำแนะนำจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ รุจิวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษา

ตอนแรกที่ทราบว่า ได้ไปทำสหกิจศึกษาในต่างประเทศ รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปจริงๆ กลับรู้สึกกลัวขึ้นมา เพราะไม่มั่นใจการใช้ภาษาอังกฤษของตัวเอง รวมทั้งความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานวิจัย ในช่วงแรกมีปัญหาการสื่อสารกับ Prof. แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการอัดเสียงของ Prof. ขณะที่กำลังอธิบายให้คำแนะนำ แล้วนำกลับมาฟังอีกครั้งพร้อมกับจดลงกระดาษทีละประโยค รวมทั้งการเข้าไปเรียนในคลาสเรียน เพื่อทำความคุ้นเคยและฟังสิ่งที่ท่านพูดให้มากขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้เนื้อหาใหม่ๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา สุดท้ายก็สามารถผ่านเรื่องราวต่างๆ มาได้ด้วยความกรุณาจาก Prof. Bastian และพี่ๆในกลุ่มวิจัย ที่พยายามสื่อสารด้วยคำที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงให้คำชี้แนะแหล่งความรู้เพื่อให้ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตัวเอง

ส่วนการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนี นางสาวปิยะนุช ได้เล่าให้ฟังว่า ค่อนข้างแตกต่างจากประเทศไทย ทั้งวัฒนธรรม ภาษา อาหารการกิน โดยเฉพาะภาษาที่ใช้เป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ นอกจากภาษาแล้วอาหารการกินส่วนใหญ่เป็นประเภทแป้งหรือเนื้อ ส่วนการเดินทางภายในเมืองไฮเดลเบิร์ก นักศึกษาส่วนใหญ่จะมีจักรยานเป็นของตัวเอง แต่บางส่วนจะใช้รถสาธารณะอย่างรถรางหรือรถบัส นับว่าสะดวกมากๆ เพราะสามารถตรวจสอบเวลาเดินรถผ่านแอพพลิเคชั่นของบริษัทขนส่งในเมือง และอีกสิ่งที่สำคัญ คือ ซุปเปอร์มาเกตรวมถึงศูนย์การค้าต่างๆ ปิดทุกวันอาทิตย์ และไม่มีถุงให้บริการ ลูกค้าจะต้องเตรียมถุงผ้าไปเอง หรือซื้อที่เคาน์เตอร์จ่ายเงิน

นางสาวปิยะนุช เล่าต่อว่า โชคดีที่ไปสหกิจฯ ช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทำให้ได้ประสบการณ์และบรรยายกาศของเทศกาลนี้ ในตัวเมืองมีการประดับตกแต่งด้วยไฟสวยงาม มีตลาดคริสต์มาสซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมมีของประดับตกแต่งเกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส ของฝาก งานฝีมือ ขนมท้องถิ่นและเครื่องดื่มต่างๆ วางขาย เมื่อถึงวันคริสต์มาสทุกคนก็จะกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ส่วนร้านค้าจะปิดเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้ไปเที่ยวทั้งแฟรงค์เฟิร์ส และสทราซบูร์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งคริสต์มาส รวมทั้งได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับรุ่นพี่ชาวไทย ทำให้มีโอกาสสอบถามแนวทางการใช้ชีวิต การเรียน และการศึกษาต่อที่เยอรมนี

“ถ้าหากว่า เราไม่ยื่นมือออกไปไขว่คว้าสิ่งที่เราต้องการด้วยตัวเองล่ะก็ไม่มีใครเขาหยิบยื่นสิ่งนั้นให้เราหรอกนะ” นางสาวปิยะนุช ตั้งมนัสสุขุม ฝากไว้ในตอนท้าย



นางสาวกษิดาภา ผลประสาร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ สาขาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นนักศึกษาทุน พสวท. ได้ไปสหกิจศึกษาที่ Plasma Bioscience Research Center & Applied Plasma Medicine Center (PBRC & APMC) ซึ่งตั้งอยู่ใน Kwangwoon University กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี หรือ ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ไปทำงานวิจัยหัวข้อ Plasma Diagnostic กับ ศาสตราจารย์ ดร. อึน ฮา ชอย

นางสาวกษิดาภา เล่าให้ฟังว่า Kwangwoon University ตั้งอยู่ที่ชานเมืองกรุงโซล เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสื่อการเรียนการสอนครบครัน พี่ๆ ในห้องปฏิบัติการมาจากหลายประเทศ มีทั้งเนปาล อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม และจีน ภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นหลักจึงเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากได้ทำความคุ้นเคยกับสถานที่และภาษาได้ 2-3 วัน Professor ได้มอบหมายงานให้ทำร่วมกับนักศึกษาระดับปริญญาเอกในหัวข้องานวิจัยเกี่ยวกับ Plasma Diagnostic ห้องปฏิบัติการพลาสมาทางการแพทย์ที่นี่มีชื่อเสียงระดับโลก มีเครื่องมือครบและทันสมัย และทุกบ่ายวันพุธจะมีการนำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยเวียนกันไปแต่ละคน ส่วนทุกวันเสาร์จะมีสัมมนา โดยบทความทางวิชาการที่เลือกมานำเสนอจะเป็นความก้าวหน้าเกี่ยวกับพลาสมา เมื่อนำเสนอเสร็จจะเป็นการไปรับประทานอาหารร่วมกันกับ Professor แล้วกลับมาทำความสะอาดห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นแบบนี้ทุกสัปดาห์

ในตอนท้าย นางสาวกษิดาภา บอกว่า การได้มาสหกิจฯ ครั้งนี้ ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการทำงาน รวมทั้งได้เห็นระบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ และคณาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ได้ให้โอกาสไปสหกิจศึกษาที่สาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้

จากประสบการณ์การไปสหกิจศึกษาในต่างประเทศของนักศึกษาจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ นักเรียนที่สนใจเลือกศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ข้อมูล