ผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษา ปี ‘63 ม.วลัยลักษณ์ ได้ 4.93 จากคะแนนเต็ม 5 อยู่ในระดับดีมาก สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีการศึกษา 2563

ม.วลัยลักษณ์ เผยผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับมหาวิทยาลัย  ประจำปีการศึกษา 2563 ได้ 4.93 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คาดเป็นผลจากการพัฒนากลไกด้านการศึกษามุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ

22 พฤศจิกายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับมหาวิทยาลัย ตามกรอบ WUQA โดยมีเกณฑ์พื้นฐานสากล AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) ในรอบปีการศึกษา 2563 ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับผลการประเมิน คะแนนเฉลี่ย 4.93 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 อยู่ในระดับดีมาก และถือเป็นคะแนนสูงที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นต้นมา

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบทั้ง 5 องค์ประกอบ พบว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้คะแนนในองค์ประกอบที่ 1 การนำองค์กร 4.99 คะแนน องค์ประกอบที่ 2 การจัดการศึกษา 4.78  คะแนน  องค์ประกอบที่ 3 การวิจัย 4.98 คะแนน องค์ประกอบที่ 4 การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 5.00 คะแนน และองค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการและการประกันคุณภาพ 4.94 คะแนน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากดูพัฒนาการคะแนนผลการประเมินดังกล่าว ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง พบว่า มีพัฒนาการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2558 ม.วลัยลักษณ์ได้ 4.42 คะแนน อยู่ระดับดี , ปี 2559 4.64 คะแนน ระดับดีมาก ,ปี 2560 4.66 คะแนน ระดับดีมาก , ปี 2561 4.75 คะแนน ระดับดีมาก , ปี 2562 4.80 คะแนน ระดับดีมาก และล่าสุดปีการศึกษา 2563 ได้ 4.93  คะแนน อยู่ในระดับดีมาก

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าวมาจากการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ  การปฏิรูปการเรียนการสอนภายใต้กรอบ UKPSF จากประเทศอังกฤษ  การพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ตามกรอบศตวรรษที่ 21 การพัฒนาบุคลากรสายอาจารย์และสายสนับสนุนให้มีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเป็น Green University

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาด้านระบบ IT ตาม Smart University  การพัฒนาระบบการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ การพัฒนาผลงานวิจัยเพื่อการเผยแพร่ใน Scopus Quartile 1 และ 2 รวมถึงการพัฒนางานบริการวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ของชุมชน โดยนำประเด็นของชุมชนมาเป็นฐานอีกด้วย

“ปัจจุบัน ม.วลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับจาก SCImago Institutions Rankings 2021 เป็นอันดับ 767 ของโลก , THE Impact Ranking ปี 2021 ด้านการพัฒนาแบบยั่งยืน อันดับที่ 601-800 ของโลก , QS Asia University Rankings 2022 อันดับ 551-600 ของเอเชีย , Nature Index Ranking 2021 ภาพรวมทุกสาขาวิชา อยู่อันดับที่ 5 ของประเทศไทย และจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ปี 2020 เป็นอันดับที่ 219 ของโลก ทั้งนี้ก้าวต่อไปของมวล.คือการก้าวเข้าสู่การรับรองมาตรฐานในระดับสากล มีอันดับโลกที่สูงขึ้น ขอให้ทุกท่านติดตามและให้กำลังใจ มหาวิทยาลัยเล็กๆ ของภาคใต้ ให้เติบโตก้าวหน้าทางคุณภาพ เพื่อเป็นตัวแทนของการศึกษาไทยในเวทีโลกต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวในตอนท้าย