นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ ติดอันดับ World’s Top 2% Scientists

3 นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุด ติด Top 2% ของโลก ปี 2021 จากการจัดอันดับโดย Stanford University

สำนักพิมพ์ Elsevier บริษัท SciTech Strategies และ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดใน Top 2% ของโลก (World’s Top 2% Scientists by Stanford University) ปี 2021 ในสาขาวิชาต่างๆ แบ่งออกเป็น 22 สาขาหลัก 176 สาขาย่อย รวมมากกว่า 100,000 คน รายงานโดยทีมวิจัยนำโดย 1. Jeroen Baas จาก สำนักพิมพ์ Elsevier 2. Kevin Boyack จาก บริษัท SciTech Strategies และ 3. Professor John P.A. Ioannidis จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)

การคัดเลือกและจัดอันดับนี้ประเมินจากการวิเคราะห์ผลกระทบงานวิจัยจากการอ้างอิงบทความที่ตีพิมพ์จากฐานข้อมูล Scopus ตั้งแต่ปี 1996 – 2020 โดยใช้ตัวชี้วัดที่หลากหลาย เช่น Citation, co-authorship, และ h-index จัดลำดับนักวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.จำแนกตามผลกระทบการอ้างอิงตลอดอาชีพวิทยาศาสตร์ (career-long citation impact) จนถึงสิ้นปี 2020 และ 2.จำแนกตามผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี 2020 (citation impact during the single calendar year 2020)  โดยข้อมูลการจัดลำดับสามารถดูได้ที่ Data for “Updated science-wide author databases of standardized citation indicators” https://elsevier.digitalcommonsdata.com/datasets/btchxktzyw/3

ในการจัดอันดับครั้งนี้ มีนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดติด World’s Top 2% Scientists by Stanford University ปี 2021 จำนวน 3 คน ประกอบด้วย

1. รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ได้ลำดับที่ 884 จากจำนวนนักวิจัยทั้งหมด 58,351 คน ในสาขา Food Science
2. รองศาสตราจารย์ พญ.วีระนุช นิสภาธร สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ได้ลำดับที่ 530 จากจำนวนนักวิจัยทั้งหมด 33,142 คน ในสาขา Tropical Medicine
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลำดับที่ 3,971 จากจำนวนนักวิจัยทั้งหมด 285,331 คน ในสาขา Materials